จาก“ไฮสปีดเทรน”ถึง 5G…ความเหมือนบนความแตกต่าง

0
179

ขณะที่ถนนทุกสายต่างเฝ้าจับตาการชิงดำสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)มูลค่าลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาทอย่างไม่กระพริบ!

หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมี 2กลุ่มบริษัทเอกชนเปิดหน้าเข้ายื่นข้อเสนอ คือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์”  กับกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR Joint Ventureที่ประกอบด้วยบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน),บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ STEC

ตาม “ไทม์ไลน์”การประมูล การรถไฟฯจะลุยแบบ “ม้วนเดียวจบ” โดยเปิดซองประมูลแรก พิจารณาด้านคุณสมบัติผู้เข้าประมูลในวันที่ 13-19 พฤศจิกายน จากนั้นจะเปิดซองที่ 2 พิจารณารายละเอียดด้านเทคนิควันที่ 20 พฤศจิกายน -11 ธันวาคม และเปิดซองที่ 3 ข้อเสนอทางด้านเรื่องราคาวันที่ 12-17 ธันวาคม สรุปผลการคัดเลือกเบื้องต้นวันที่ 18 ธันวาคม-1 มกราคม โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี( ครม.)วันที่ 28–31 มกราคม 62 ก่อนการเลือกตั้งจะมีขึ้น

เป็นการประมูลแบบ “ม้วนเดียวจบ” ที่รวดเร็วเกินความคาดหมาย ทั้งที่เป็น “อภิมหาโปรเจ็กต์” ที่่มีวงเงินลงทุนสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์กว่า 224,000 ล้านบาทและมีอายุสัมปทานโครงการถึง 50 ปี แต่กลับใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอและเงื่อนไขต่างๆ เพียงเดือนเศษเท่านั้น

เทียบไม่ได้เลยกับการประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันมูลค่า 4,0000 ล้านของขสมก.ที่กว่าจะปิดจ๊อบได้ประชาชนคนกรุงต้องหาวเรอรอมาร่วมทศวรรษเพราะจัดประมูลกันสุดมาราทอนนับสิบปีกว่ากว่าจะได้ผู้ประมูล

ส่วนที่ว่าข้อเสนอกลุ่มใดเหนือกว่าจะคว้าสัมปทานโครงการไป หรือจะเป็นไปตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก่อนหน้าว่า “กลุ่มเจ้าสัวซี.พี.” ตีตราจองโครงการนี้เอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้ ยังไงก็ไม่พลิกโผไปได้น้ัน สำหรับประชาชนคนไทยคงไม่อินังขังขอบอะไรด้วยหรอก มีแต่ภาวนาขอให้โครงการนี้แจ้งเกิดข้ึนมาไวๆ ด้วยซ้ำ

เพราะรถไฟความเร็วสูงสายนี้ไหว้ครูรอคอยกันมาตั้งแต่ปี 2535 สมัยรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน โน้นแล้ว แต่กลับล้มลุกคลุกคลานไม่ไปไหน หากรัฐบาล “ลุงตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผ่าทางตันแจ้งเกิดโครงการนี้ได้สำเร็จ  ประชาชนคนไทยคงได้แต่ชูจั๊กแร้เชียร์ “พรรคพลังประชารัฐ” ของว่าที่นายกฯใหม่กันท่วมเมือง!

เรื่องของรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” ที่รัฐบาลชุดนี้ปาดหน้าแจ้งเกิดสุด “ไวไฟ”ย่ิงกว่าระบบ 5 จีนั้น มีข้อน่าสังเกตุที่ไม่รู้ประชาชนคนไทยเราจะตระหนักนึกถึงกันหรือไม่  น่ันก็คือ เงื่อนไขการประมูลร่วมลงทุนตามรูปแบบ “พีพีพี” ที่ภาครัฐจะลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานให้ภายใต้วงเงินไม่เกิน 119,000 ล้านบาทตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ  27 มีนาคม 2561

แปลให้ง่ายนอกจากบริษัทเอกชนจะได้สัมปทานโครงการนี้ไป ซ่ึงครอบคลุมตั้งแต่งานก่อสร้าง จัดหาระบบเดินรถ และสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินโดยรอบสถานีหลักๆอย่างสถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชาอีกร่วม 100 ไร่ รวมถึงได้สิทธิเดินรถไฟฟ้า “แอร์พอร์ตลิงก์”แถมไปด้วยแล้ว

ยังได้เงิน “ก้นถุง”อีกกว่าแสนล้านแถมพกไปด้วย ซ่ึงถือเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดใน 3 โลกที่เกิดอีก 10 ชาติก็หาไม่ได้อีกแล้ว!!!

เห็นแล้วก็ให้นึกย้อนไปถึง “มือถือ 5 จี” ที่รัฐบาลและคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) หมายมั่นปั้นมือจะผลักดันให้ประเทศไทยพัฒนา 5 จีให้ได้ภายในปี 2563 หรือภายในระยะ 2 ปีจากนี้  แต่กลับไม่มีโอกาสได้ “อานิสงส์”จากนโยบายของภาครัฐในลักษณะเดียวกันแม้แต่น้อย

ทั้งที่หากพิจารณาในแง่ของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศแล้ว การลงทุนของรัฐไม่ว่่าจะก่อสร้างถนนหนทาง  ระบบรางจะรถไฟ รถไฟฟ้า หรือแม้แต่รถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน”ที่รัฐบาลกำลังโม่แป้งอยู่นี้ ล้วนเป็นไปเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ  และเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน  ไม่ต่างไปจากการลงทุนด้านสื่อสารโทรคมนาคม  และจะว่าไปการลงทุนด้านสื่อสารโทรคมนาคมนั้นน่าจะมีส่วนในการยกระดับการพัฒนาศักยภาพของผู้คนได้มากกว่าเสียด้วยซ้ำ

แต่เมื่อหันไปดูนโยบายของรัฐที่มีต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 2 ฟากฝ่ังจะเห็นถึงความแตกต่างกันชนิด​หน้ามือกับหลังมือเลยทีเดียว  รัฐบาลนั้นพร้อมจะทุ่มเทงบประมาณ ถลุงภาษีหรือเงินกู้ยืมเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้กันเป็นหมื่นล้าน แสนล้าน อย่างล่าสุดที่ครม.ไฟเขียวให้เทเม็ดเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบรางให้แก่รถไฟความเร็วสูงนี้ด้วยถึง 119,000 ล้านบาท

แต่ลองคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)หรือภาคเอกชนในธุรกิจสื่ือสารโทรคมนาคมชงข้อเสนอให้รัฐบาลเจียดเม็ดเงินภาษี หรือเงินกองทุนให้แก่ผู้ประมูลรับใบอนุญาต 5จีสัก 5,000 ล้านหรือสัก 10,000 ล้านบาทเพื่อเป็นเงินก้นถุงหรือทุนประเดิมในการพัฒนา 5จีให้ประเทศซิ

ว่าจะมีบรรดานักวิชาการ ภาคประชาชนและเครือข่ายอะไรต่อมิอะไรได้ “ดาหน้า”ออกมาคัดง้างกันชนิดหูดับตับไหม้ว่าเป็นการเอื้อกลุ่มทุนสื่อสาร เอื้อนายทุนหรือนายใหญ่อะไรที่ว่ากันสน่ันโซเชี่ยลแน่ เผลอๆจะยื่นฟ้องคนเสนอคนชงให้งานเข้าเอาด้วยอีก และไม่ต้องถึงกับขอเจียดเงินกองทุน เงินก้นถุงอะไรหรอก แค่ตั้งเกณฑ์ประมูล 5 จีในราคาที่ต่ำกว่า 3 หรือ 4 จีเดิมก็อาจงานเข้าแล้ว

แต่กับการถลุงภาษีเป็นแสนล้านอย่างที่ ครม.อนุมัติหลักการให้ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน”ไปล่าสุด กลับไม่มีใครออกมาต้ังข้อกังขาว่าเป็นการเอื้อกลุ่มทุนแม้แต่น้อย  ช่างต่างกันราวกับกับดินเสียจริง!!!

:เนตรทิพย์