ซีพีเอฟฟิลิปปินส์ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนโครงการ “Plant Today, Reap Tomorrow” ต่อเนื่องปีที่ 5

0
120

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร คอร์ปอร์เรชั่น ฟิลิปปินส์ (ซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์) จัดกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในโครงการ “Plant Today, Reap Tomorrow” ปีที่ 5 ชวนชุมชนชายฝั่งทะเลของเมืองซามาล จังหวัดบาตาอาน ร่วมอนุรักษ์ความสมบูรณ์และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มผืนป่าโกงกางแล้วกว่า 33 ไร่

นายอุดมศักดิ์ อักษรภักดี กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งถือเป็นระบบนิเวศที่สำคัญยิ่งต่อทั้งสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในผืนป่า ตลอดจนประชากรที่พึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาตินี้ในการดำรงชีวิต ผู้บริหารและพนักงานชาวซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ จึงร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน นักศึกษา และชาวชุมชนชายฝั่งทะเล ในการดำเนินโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกิจกรรมเพิ่มผืนป่าชายเลนที่จัดขึ้นเป็นประจำในทุกปีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ที่เคยได้รับผลกระทบจากคลื่นลมพายุสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และทำลายแหล่งน้ำสะอาดตามแนวชายฝั่ง

จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทำให้ปริมาณป่าไม้ชายเลนเพิ่มขึ้น ช่วยป้องกันแนวชายฝั่งไม่ให้เกิดความเสียหายจากกระแสคลื่นลมและชาวชุมชนไม่ได้รับอันตรายดังแต่ก่อน และยังช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยในท้องทะเลจากการปรับปรุงระบบนิเวศให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ชุมชนชายฝั่งมีรายได้เพิ่มขึ้นจากสัตว์น้ำที่มีมากขึ้น

“ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ มีส่วนผลักดันให้เกิดการเพิ่มขึ้นของป่าชายเลน จากปริมาณกล้าไม้ชายเลนที่ปลูกไปแล้วมากกว่า 38,700 ต้น บนพื้นที่ กว่า 33 ไร่ พบว่าพันธุ์ไม้มีอัตรารอดสูงถึง 95% โดยบริษัทวางแผนที่จะสร้างธนาคารปูพร้อมปล่อยปลาและกุ้ง เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์น้ำ โดยร่วมมือกับชุมชนเพื่อช่วยกระตุ้นให้พวกเขาร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม ปกป้องผืนป่าชายเลนที่พวกเขาร่วมกันสร้าง” นายอุดมศักดิ์ กล่าวและว่า

ซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ ดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างมีส่วนร่วม ผ่านคณะกรรมการโครงการฯ ที่ประกอบด้วยผู้บริหารและพนักงานของบริษัท ที่ทำงานร่วมกับคณะกรรมการท้องถิ่น เพื่อการดำเนินงานอย่างเป็นระบบควบคู่กับการติดตามความคืบหน้าและลงพื้นที่ดูแลกล้าไม้ที่ปลูกไปแล้วอย่างใกล้ชิด รวมถึงการช่วยกันปลูกต้นไม้ทดแทนในกรณีที่เกิดความเสียหาย เพื่อให้มีอัตรารอดสูงสุด นอกจากนี้ ยังร่วมกับชุมชนตรวจสอบพื้นที่สำหรับการพัฒนาอนุรักษ์และฟื้นฟูให้ขยายวงกว้างขึ้นต่อไป