กรมการขนส่งทางบก แจงกรณีโครงการ “สามล้อเอื้ออาทร” ยันไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำนิติกรรมสัญญาเงินกู้ของสถาบันการเงิน แต่พร้อมหามาตรการเยียวยาแก่กลุ่มผู้เสียหายที่ยังต้องการประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างสามล้อโดยสุจริต
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงกรณีที่มีกลุ่มผู้ขับสามล้อรับจ้างได้เข้าร่วมโครงการสามล้อเอื้ออาทรของกรมการขนส่งทางบก เข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยระบุว่าได้มีการทำสัญญาเงินกู้ไว้กับสหกรณ์ฯ แห่งหนึ่งเพื่อกู้ซื้อรถ และได้จ่ายหนี้ตามที่ตกลงกับสหกรณ์ฯ ไว้มาโดยตลอด แต่กลับถูกธนาคารฟ้องว่าเป็นหนี้คงค้างในจำนวนเงินที่สูงกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ในตอนแรก ทั้งนี้ กรมฯดำเนินโครงการสามล้อเอื้ออาทรครั้งแรกเมื่อปี 2549 และขยายระยะเวลาเพิ่มเติมในปี 2558 ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีรถสามล้อเป็นของตนเอง เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพขับรถรับจ้างได้อย่างสุจริต โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและกรมฯกกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลในการจดทะเบียนรถยนต์สามล้อรับจ้าง (เอื้ออาทร) และตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอให้ตรงตามที่ประกาศกระทรวงกำหนดไว้เท่านั้น โดยผู้ขอรับสิทธิ์ตามโครงการสามล้อเอื้ออาทรต้องจัดหารถมาดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อภายในระยะเวลาที่กำหนดตามเงื่อนไข ซึ่งจะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดหารถ หรือทำการติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อขอใช้บริการด้านสินเชื่อเอง ดังนั้น ในการดำเนินการขั้นตอนดังกล่าว เป็นการจัดทำสัญญาระหว่างผู้ขอรับสิทธิ์กับสถาบันการเงิน กรมฯไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำนิติกรรมสัญญาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากผู้ขับรถสามล้อรับจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบอาชีพขับรถรับจ้างโดยสุจริต กรมฯพร้อมพิจารณานำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมแก่กลุ่มผู้เสียหายต่อไป
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการสามล้อเอื้ออาทร นับตั้งแต่กระทรวงคมนาคมได้มีประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อในท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2549 กำหนดรถที่จะรับจดทะเบียนไว้ไม่เกิน 2,500 คัน เมื่อครบกำหนด มีผู้มาใช้สิทธิเพียง 1,686 คัน จึงคงเหลือจำนวนรถที่ยังจดทะเบียนได้อีกจำนวน 814 คัน และเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่มีความประสงค์จะประกอบอาชีพขับรถรับจ้าง แต่ยังคงไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ กระทรวงคมนาคมโดยกรมฯได้ทำการเปิดรับคำขอเพิ่มเติมอีกสองครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 13 – 28 สิงหาคม 2558 มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์จดทะเบียน 249 คัน (คงเหลือ 565 คัน) และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 – 30 ธันวาคม 2558 มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์จดทะเบียน 131 คัน รวมทั้งสองครั้งมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์จดทะเบียนเพิ่มเติมจำนวน 380 คัน โดยยังคงเหลือสิทธิ์ในการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้ออีกจำนวน 434 คัน ประกอบกับจำนวนรถสามล้อรับจ้างที่ให้บริการในปัจจุบัน เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีจำนวน 9,332 คัน และในต่างจังหวัดจำนวน 10,736 คัน รวมทั่วประเทศจะมีจำนวนทั้งสิ้น 20,068 คัน ซึ่งถือว่าเพียงพอกับการความต้องการให้บริการในแต่ละท้องที่ และภาครัฐสามารถควบคุมกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ