รัฐบาลยังมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริม SME และพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ Start up พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงยกระดับไปสู่ SME 4.0 หลังจากริเริ่มนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ตั้งแต่ปี 59 ต่อเนื่องปี 60 จนกระทั่งปี 61 เพื่อเป้าหมายต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เพื่อนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็ง ลดความเหลี่ยมล้ำในสังคม และก้าวไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
ขณะที่ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบนโยบายดังกล่าว มีภารกิจบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารออมสิน และกรมประมง ร่วมกันส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ของประเทศ ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการเกษตร ให้ SME ไทยเติบโต แข่งขันได้ในระดับสากล โดย สสว.ยังได้จัดทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ ( Start up) เพื่อทำให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ให้เข้าสู่ระบบภาษี โดยกำหนดเป้าหมายในภาคการเกษตรและภาคทั่วไปจำนวนประมาณ 10,000 ราย
ทั้งนี้ เพื่อหวังพัฒนาและส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการให้ยั่งยืนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยกระดับสู่ SME 4.0 การเชื่อมโยงหน่วยงานส่งเสริมผู้ประกอบการในการให้องค์ความรู้ให้คำปรึกษา การนำงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาใช้ การตลาดนำการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามความเหมาะสม อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้ประกอบการต่อไป
ล่าสุด สสว.ได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)ยกระดับผุ้ประกอบการ SME ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้องค์ความรู้ในการทำธุรกิจ ส่วนรายละเอียดในการดำเนินงานเป็นอย่างไร
นายวชิระ แก้วกอ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในปี 2560-2564 การส่งเสริมให้ “SME ไทยเติบโต แข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ทำให้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดำเนินงานพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ Start Up ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และกรมประมง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ให้เข้าสู่ระบบภาษี จำนวนเป้าหมายในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ในภาคเกษตรและภาคทั่วไปจำนวน 10,000 ราย
ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงได้คัดเลือกให้ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการ โดย สสว. มีเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยทำการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ มุ่งสร้างนวัตกรรมสู่ SME 4.0 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้องค์ความรู้ในการทำธุรกิจ มีระบบการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำธุรกิจให้เกิด High Value ผลักดันให้ SME และวิสาหกิจชุมชนเติบโตและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งในการดำโครงการได้แบ่งผลผลิตออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย
- ผู้ประกอบการจะได้รับความรู้เบื้องต้นในการยกระดับเป็น SME 4.0 จำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 ราย 2. ผู้ประกอบการมีแผนธุรกิจเตรียมความพร้อมนำไปปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ จำนวนไม่น้อยกว่า 1,500 ราย 3. ผู้ผ่านการบ่มเพาะเพื่อพัฒนาเป็นผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาสินค้าหรือบริการให้เป็นที่ต้องการของตลาดและประกอบธุรกิจได้ จำนวนไม่น้อยกว่า 900 ราย และ 4. ผู้ประกอบการได้รับการเชื่อมโยงเข้าสู่การส่งเสริมด้านการตลาด ทั้งการตลาดออนไลน์หรือการจัดการแสดงสินค้า จำนวนไม่น้อยกว่า 450 ราย ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการส่งเสริมด้านการตลาด โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมมากกว่า 150 ราย
ด้าน รศ. ดร.ฐิติพงษ์ เลิศวิริยะประภา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ Start Up ปี 2561 โดยมีวัตถุประสงค์ ให้ผู้ประกอบการใหม่สามารถเริ่มต้นธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ มุ่งสร้างนวัตกรรมสู่ SME 4.0 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้องค์ความรู้ในการทำธุรกิจ มีระบบการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำธุรกิจให้เกิด High Value เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ SME และวิสาหกิจชุมชนเติบโตและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ส่วนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start up ) ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาคการเกษตร ภาคบริการ ภาคการค้าและภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ กรุงเทพมหานคร กลุ่มจังหวัดภาคกลาง และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ทั้งสิ้น 25 จังหวัด รวม 3,322 ราย และมหาวิทยาลัยฯ ได้มีขั้นตอนในการพัฒนาดังนี้ 1. กิจกรรมอบรมเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการยุค 4.0 มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 3,207 ราย 2. กิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเขียนแผนธุรกิจ มีผู้ประกอบการที่สามารถจัดทำแผนธุรกิจและได้รับคำแนะนำจากธนาคารจำนวน 1,664 ราย
- กิจกรรมการสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้คำปรึกษาตามแผนการพัฒนาเชิงลึกด้านต่างๆ ซึ่งกิจกรรมนี้ได้ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการมากกว่า 900 ราย และสุดท้ายกิจกรรมที่ 4. กิจกรรมการเชื่อมโยงสินค้าเข้าสู่การส่งเสริมการตลาดหรือเงินทุน
ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้จัดให้มีการส่งเสริม 2 รูปแบบ คือ เชื่อมโยงสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ และ การตลาดผ่านงานแสดงสินค้าต่างๆ โดยรวมมีผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมด้านการตลาดมากกว่า 450 ราย
“ ส่วนกิจกรรมในวันนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดผ่านงานแสดงสินค้า STARTUP Market fair 2018 ที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมมากกว่า 150 ราย ซึ่งภายในงานนอกจากการแสดงสินค้า ยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจกับแหล่งเงินทุนโดยได้ตัวแทนจาก ธนาคารออมสิน มาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย”