กลุ่มบริษัทการบินไทยฯ เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2 มีรายได้รวม 47,239 ล้านบาท อ้างราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูง ผนวกการแข่งขันรุนแรง พ่นพิษซัดกลุ่มบริษัทฯขาดทุนสุทธิ 3,086 ล้านบาท
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ใไตรมาสที่ 2 ปี 2561 บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจปี 2561 ต่อเนื่องมาจากไตรมาสก่อนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลการดำเนินงานมีกำไรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพ การให้บริการที่เทียบเคียงมาตรฐานชั้นนำ โดยผลสำเร็จของการดำเนินการปรับปรุงการบริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ได้รับรางวัลสายการบินยอดเยี่ยมของโลกหลายรางวัลอย่างต่อเนื่อง ไตรมาสนี้ บริษัทฯ ได้รับมอบเครื่องบินใหม่แบบแอร์บัส A350-900 เพิ่มอีก 1 ลำ สำหรับให้บริการในเส้นทางข้ามทวีปและเส้นทางภูมิภาค ทำให้มีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 จำนวน 105 ลำ มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 5.3% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 1.6% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 75.8% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 78.5% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.90 ล้านคนใกล้เคียงกับปีก่อน
ปกติไตรมาสสองเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินยังคงรุนแรง ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีขาดทุนจากการดำเนินงาน (Operating Loss) 2,807 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 965 ล้านบาท (52.4%) โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 47,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,057 ล้านบาท หรือ 4.6% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้น 244 ล้านบาท (0.7%) จากปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น 1.6% แต่รายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง 0.9% รายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์เพิ่มขึ้น 665 ล้านบาท (13.9%) และรายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้น 1,280 ล้านบาท เกิดจากกำไรจากการขายหุ้นในบริษัท โรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 655 ล้านบาท และกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ รวมประมาณ 632 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 50,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,022 ล้านบาท (6.4%) เนื่องจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 1,873 ล้านบาท (15.3%) จากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นถึง 36.5% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 1,158 ล้านบาท (3.4%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน และค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่เพิ่มขึ้น
บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 257 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 431 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชี ซึ่งขาดทุนลดลงจากปีก่อน 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 3,086 ล้านบาท ขาดทุนต่ำกว่าปีก่อน 2,122 ล้านบาท (40.7%) โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 3,098 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.42 บาท ขาดทุนต่ำกว่าปีก่อน 0.97 บาท (40.6%)
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 281,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 1,181 ล้านบาท (0.4%) หนี้สินรวม มีจำนวน 250,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 1,873 ล้านบาท (0.8%) และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 31,321 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 692 ล้านบาท (2.2%) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้