“อาคม”ลงพื้นที่ขับเคลื่อนรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ขานรับมติ ครม.ผลักดันระบบรางเชื่อมเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว ท้องถิ่นมีเฮ สิ้นสุดการรอคอยกว่า 50 ปี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาสร้างการรับรู้และความเข้าใจโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงรายว่า สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นหนึ่งในแผนงานของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 และล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงเร่งรัดโครงการให้แล้วเสร็จได้ในปี 2566 ด้วยมูลค่าโครงการ 85,345 ล้านบาท โดยโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 323.10 กม. มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง โดยมีลานขนถ่ายสินค้าจำนวน 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ
โครงการนี้ มีจุดเด่นที่สำคัญคือเป็นโครงการที่ก่อสร้างโดยไม่มีจุดตัดทางแยกรถไฟเพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทางของการรถไฟฯ และออกแบบสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ ทางรถยนต์ลอดรถไฟ ทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ รวมประมาณ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง และยังมีอุโมงค์คู่ตามแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ภูเขา รวมระยะทางประมาณ 13.9 กม. เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัยด้วย
ทั้งนี้ เมื่อโครงการนี้ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2566 จะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 5,600 คน/วัน และรองรับได้ถึง 9,800 คน/วัน ในปี 2595 สร้างอัตราการเติบโตของผู้โดยสารได้ถึงร้อยละ 1.95 ต่อปี และอัตราการเติบโตของสินค้าประมาณร้อยละ 4.65 ต่อปี นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 413,417 ทีอียูต่อปี ในปี 2566 และเพิ่มเป็น 951,955 อีทียูต่อปี ในปี 2595 ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกผ่านด่านเป็นร้อยละ 30-40 ต่อปี โครงการนี้จึงเป็นเส้นทางสำคัญเพื่อเชื่อมเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ที่จะมุ่งตรงสู่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และยังสามารถขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเลทางท่าเรือแหลมฉบังได้ด้วย รองรับนโยบายจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย (SEZ) เป็นการเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ และเป็นการพลิกโฉมจังหวัดเชียงรายให้เป็น Logistics City ของภูมิภาคในอนาคตอีกด้วย