กลิ่นไม่ดีอีกแล้ว ! “ดร.สามารถ” แฉพิรุธ รฟท. ซื้อเครื่องทดสอบสปริง แพงเวอร์ 250%

0
174

โครงการจัดซื้อจัดจ้างภายในการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  ยังมีปมปัญหาเกี่ยวกับความโปร่งใสที่มี   ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์  อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เฝ้าติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 ดร.สามารถ โพสต์เฟชบุ้กส่วนตัว   แฉข้อพิรุธโครงการประมูลจัดซื้อเครื่องทดสอบสปริงจำนวน 3 เครื่อง วง 21 ล้านบาท  แต่พบความไม่ชอบมาพากล ในการตั้งราคากลางที่แพงกว่าราคาในท้องตลาดถึง 250%  โดยระบุรายละเอียดดังนี้

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) และรักษาการผู้ว่าการ รฟท.มาแล้วหลายครั้งก็ตาม แต่การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุของ รฟท.ก็ยังไม่ดีขึ้น กลิ่นไม่ดียังคงมีอยู่ ไม่จางหายไปกับการเปลี่ยนแปลง ล่าสุดฝ่ายการช่างกล รฟท. กำลังมีโครงการจัดซื้อเครื่องทดสอบสปริงจำนวน 3 เครื่อง วงเงิน 21 ล้านบาท โดยใช้วิธีคัดเลือกซึ่งเฉพาะบริษัทที่ได้รับเชิญเท่านั้นสามารถเข้าร่วมประมูลได้ มีการกำหนดให้ยื่นซองเอกสารประกวดราคาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2561

เครื่องทดสอบสปริงดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของสปริงที่ติดตั้งอยู่ใต้โบกี้รถไฟ สปริงมีหน้าที่ช่วยในการทรงตัวของโบกี้ ดังนั้น หากสปริงไม่ดีก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้รถไฟตกรางได้ จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาเครื่องทดสอบสปริงเพื่อตรวจสอบลักษณะการยืดหยุ่นของสปริง หากสปริงหดตัวมากเกินพิกัด ก็ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน จำเป็นต้องเปลี่ยนใช้สปริงตัวใหม่

การจัดซื้อเครื่องทดสอบสปริงครั้งนี้ถือว่าเป็นเครื่องแรกของ รฟท.เลยก็ว่าได้ เพราะที่ผ่านมา รฟท.ตรวจสอบการยืดหยุ่นของสปริงโดยการวัดความสูงของสปริงด้วยสายตาหรือด้วยไม้บรรทัดว่าหดตัวมากน้อยเพียงใด ในขณะที่การรถไฟของหลายประเทศทั่วโลกได้ใช้เครื่องทดสอบสปริงกันมาอย่างแพร่หลาย

แผนการจัดหาเครื่องทดสอบสปริงแบ่งเป็น 3 โครงการ โครงการที่ 1 จัดซื้อ 3 เครื่อง วงเงิน 21 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระหว่างการเปิดประมูล โดยกำหนดให้ยื่นเอกสารประกวดราคาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ส่วนโครงการที่ 2 จะจัดซื้อ 3 เครื่อง อยู่ในระหว่างการจัดทำราคากลาง และโครงการที่ 3 จะจัดซื้อ 1 เครื่อง อยู่ในระหว่างการจัดทำราคากลางเช่นเดียวกัน

สำหรับโครงการที่ 1 ซึ่งกำลังประกวดราคาอยู่ในขณะนี้นั้นมีข้อพิรุธหลายประการ ดังนี้

1โครงการนี้มีการตั้งราคากลางที่แพงกว่าราคาในท้องตลาดถึง 250% กล่าวคือ เครื่องทดสอบสปริงซึ่งมีสเปกไม่ด้อยกว่าสเปกที่ รฟท.กำลังจัดซื้อที่ขายกันในต่างประเทศมีราคาไม่เกินเครื่องละ 2 ล้านบาท แต่ รฟท.ตั้งราคากลางไว้เครื่องละ 7 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไป ไม่สมเหตุสมผล

2กระบวนการจัดซื้อมีความไม่ชอบมาพากล เพราะตามระเบียบของกรมบัญชีกลางในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ การที่จะใช้วิธีคัดเลือกในการประมูลหรืออนุญาตให้เฉพาะบริษัทที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประมูลได้นั้นจะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้ (ก) เป็นโครงการที่เคยเปิดประมูลโดยใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก (ข) มีความจำเป็นเร่งด่วน (ค) เป็นพัสดุที่ใช้ในราชการลับ หรือเป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของหน่วยงานของรัฐ หรือที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และ (ง) เป็นพัสดุที่มีเทคนิคสลับซับซ้อน และมีผู้ผลิตทั่วโลกน้อยราย

จากการพิจารณาหลักเกณฑ์ข้างต้นไม่พบว่าโครงการนี้สามารถเข้าเงื่อนไขใดได้เลยสักข้อเดียว เนื่องจากเครื่องทดสอบสปริงมีผู้ผลิตจากทั่วโลกมากกว่า 10 ราย และไม่ได้เป็นพัสดุที่มีเทคโนโลยีสลับซับซ้อนแต่อย่างใด จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใด รฟท.จึงเลือกใช้วิธีคัดเลือกในการประมูล ทำไมไม่ใช้วิธีประมูลทั่วไปที่เปิดโอกาสให้บริษัทผู้สนใจหลายรายเข้าร่วมแข่งขันได้ ไม่ใช่เฉพาะบริษัทที่ได้รับเชิญเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพอย่างเป็นธรรม

3.ระยะเวลาในการเตรียมเอกสารประกวดราคาสั้นมากเพียง 10 วันทำการเท่านั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทที่ได้รับข้อมูลภายในล่วงหน้ามาก่อนรายใดรายหนึ่งหรือไม่

4.กำหนดระยะเวลาในการผลิตและส่งมอบเครื่องทดสอบสปริงไม่เกิน 120 วัน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก โดยทั่วไปจะใช้เวลาผลิตและส่งมอบประมาณ 180 วัน ดังนั้น การกำหนดระยะเวลาที่สั้นเช่นนี้ อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งก็ได้

อนึ่ง โครงการนี้เคยมีบริษัทผู้สนใจร้องเรียนไปที่ รฟท.ถึงความไม่ชอบมาพากลแล้ว แต่ รฟท.กลับนิ่งเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน และสุดท้าย กลับเร่งเดินหน้าประมูลโดยไม่ฟังเสียงร้องเรียนแต่อย่างใด

เมื่อ รฟท.ไม่สนใจใยดีกับข้อร้องเรียน จึงจำเป็นต้องร้องเรียนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เร่งกำจัดกลิ่นไม่ดีที่ รฟท.ให้หมดสิ้นไปเสียที