“ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เปิดงานสัมมนานานาชาติโลจิสติกส์ ครั้งที่ 6 “Northern Logistics Fair 2018” เพื่อยกระดับความก้าวหน้าการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของภาคเหนือเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และประชาคมอาเซียน (AC) หนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แลกเปลี่ยนความรู้ เพิ่มช่องทางการค้าให้กับผู้ผลิต ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนานานาชาติโลจิสติกส์ ครั้งที่ 6 “Northern Logistics Fair 2018”ณ โรงแรมเวียงอินทร์ จังหวัดเชียงรายว่างานสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อความก้าวหน้าการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของภาคเหนือเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และประชาคมอาเซียน (AC) ให้เกิดการสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ เพิ่มช่องทางการค้าให้กับผู้ผลิต ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
“การจัดการโลจิสติกส์มีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศไทยและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่จะต้องบริหารให้มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งเน้นย้ำความจำเป็นเรื่อง Big Data เพื่อการวางแผนโลจิสติกส์ซึ่งในอนาคตไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีไอทีมาใช้เก็บข้อมูลเท่านั้น แต่ธุรกิจจะต้องใช้ข้อมูลวิเคราะห์คาดการณ์ได้อย่างชำนาญและมีประสิทธิภาพ โดยได้บรรยายในรายละเอียดศักยภาพด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยในปัจจุบัน ศักยภาพด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ และนโยบายและโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ โครงการก่อสร้าง/พัฒนารถไฟทางคู่ 18 สาย โครงข่ายรถไฟรองรับ EEC และ SEZ โครงข่ายทางถนน แผนการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคเมืองหลักและเมืองชายแดน โครงการก่อสร้างจุดจอดพักรถบรรทุก (TRUCK REST AREA) โครงการศูนย์การเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า เป็นต้น”
นอกจากนี้ ยังรวมถึงกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย และมั่นคง ด้วยพลังงานทางเลือกใหม่/ระบบขนส่งที่ประหยัดพลังงาน การขนส่งที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง/โลจิสติกส์สร้างโครงข่ายการเชื่อมโยงระบบคมนาคมภายในประเทศและระหว่างประเทศ การเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมด้วยการออกแบบและการบริการเพื่อคนทุกกลุ่ม ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565นโยบายและโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) นโยบาย One Belt One Road ของจีน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ภาคเหนือ