เป็นอีกเรื่องที่พลิกความคาดหมายเกินกว่า”ฟรอยต์”จะจินตนาการจริงๆ
หลังรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับคณะรัฐมนตรี“บิ๊กตู่ 5 ” ปลายปี 2560 เพื่อหวังสร้างผลงาน สร้างศรัทธา กรุยทางไปสู่การลงสู่สนามการเมืองเต็มตัว
โดยในส่วนของกระทรวงพลังงานนั้นได้ ดึงเอา นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมที่ถือเป็นผู้ที่คว่ำหวอดในแวดวงพลังงานเข้ามากุมนโยบายแทน พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ ด้วยความคาดหวังจะเห็นการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปพลังงานที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ และการเคลียร์หน้าเสื่อโรงไฟฟ้าทางเลือก โรงไฟฟ้าทดแทนทั้งหลายแหล่
แต่เอาเข้าจริงวันนี้นโยบายปฏิรูปพลังงานที่ผู้คนเพรัยกหาก็กลับพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ!
ล้มโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อใคร?
ไล่ดะมาตั้งแต่โครงการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา ขนาดกำลังการผลิต 800 และ 2,000 เมกะวัตต์ในพื้นที่ภาคใต้ที่ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะเผชิญวิกฤติไฟฟ้ามากที่สุด จากความต้องการใช้ไฟที่มากกว่า 2,600 เมกะวัตต์มากกว่ากำลังผลิตที่มีคือ 2,000 เมกะวัตต์ ด้วยเหตุที่ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้สำเร็จเสียที ทั้งที่ที่รัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ “ป้ำผีลุกปลุกผีนั่่ง”กันมาเป็น 10 ปี
แต่แทนที่รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ที่ทุกฝ่ายคาดหวังจะเห็นความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจจะสั่งเดินหน้าโครงการที่คาราคาซังมาเป็นสิบปีนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป สิ่งที่เห็นและเป็นไปก็กลับกลายเป็นการ “ปิดประตูลั่นดาล“โรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปโดยสิ้นเชิง!
โดยรมต.พลังงานได้สั่งให้กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปเริ่มต้นศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาตใต้ใหม่ยกกระบิ รวมทั้งศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ใหม่ยกกระบิ ทั้งที่กระทรวงพลังงานและรัฐบาลได้เดินหน้าโครงการดังกล่าวมาจนจะถึงปลายอุโมงค์แล้ว มีการศึกษาพื้นที่ตั้งที่เหมาะสม ศึกษาผลกระทบด้านส่ิงแสดล้อม EIA EHIA และกระบวนการด้านอื่นๆมาจวบจะครบทุกด้านแล้ว
แต่วันนี้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพานั้นต้องกลับไปนับ 1 ใหม่ ท่ามกลางข้อกังขาอะไรเป็นมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ รัฐมนตรีพลังงาน “หักดิบ”โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่กำหนดไว้ในแผนจัดหาและพัฒนาพลังงานไฟฟ้า(พีดีพี2015) ไปได้
แถมแนวทางในการแก้ไขวิกฤติพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ที่เจ้าตัวนำเสนอให้กฟผ.ขยายระบบสายส่งไฟฟ้าขึ้นเป็น 1,000 เมกะวัตต์ดึงไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ซึ่งเป็นเพียงแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบ“ขายผ้าเอาหน้ารอด” ที่หาใช่แนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ทุกฝ่ายเพรียกหา
ใบสั้่งยักษ์พลังงานกินรวบ
ขณะที่หนทางในการปลุกขีพโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาในพื้นที่ภาคใต้ต้องยืนอยู่บนเส้นด้าย ถูกปิดประตูลั่นดานค่อนข้างแน่ชัดลงไปนั้น วันวานคณะรัฐมนตรี(ครม.) กลับอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก่อสร้างระบบสายส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ คือ บริษัทกัลฟ์เอสอาร์ซี จำกัด หรือ Gulf ในพื้นที่อำเภอปลวกแดง และต้อากสายส่งมายังโรงไฟฟ้าบางประกง 2 ระยะทางกว่า90กม. วงเงินลงทุนกว่า7,250 ล้านบาทเพื่อ รองรับการจ่ายไฟในภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ(อีอีซี)ในปี 2564-2569
มติครม.ข้างต้นก่อให้เกิดคำถามก่อนหน้านี้เมื่อปี 2556 เมื่อครั้งที่รัฐและกระทรวงพลังงานมีนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ (ไอพีพี ) ระยะ 3 จำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ในครั้งนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯได้ส่งบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจำกัด เข้าร่วมซื้อซองประมูลด้วย โดยจะร่วมกับพันธมิตรเอกชนอีกรายเข้าประมูล
มีการจัดทำข้อตกลงที่จะร่วมประมูลด้วยกัน แต่เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นซองประมูล บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลด้ิง กลับขอถอนตัวทั้งที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น(PQ)ไปแล้ว ด้วยข้ออ้างโครงการมีความเสี่ยงสูง เพราะพื้นที่ตั้งที่บริษัทจัดหาไม่อยู่ในแนวท่อก๊าซของบริษัท ปตท. และแนวระบบสายส่งไฟฟ้า หากจะเดินหน้าประมูลจะเกิดความเสี่ยงจึงตัดสินใจถอนตัวไป
ผลประมูลโครงการไอพีพี ระยะ 3 ในครั้งนั้นจึงทำให้บริษัทกัลฟ์ เพาเวอร์เจนเนอร์เรชั่น จำกัด ชนะการประมูล“กินรวบ” โครงการไอพีพีระยะ 3 ไปถึง 5,000 เมะวัตต์ ขณะที่กฟผ.และบริษัทลูกได้ถูกบริษัทเอกชนที่เป็นพันธมิตรยื่นฟ้องกราวรูดผู้บริหาร เพราะบริษัทเอกชนต้องเสียหายอย่างหนักจากการประกาศถอนตัวในครั้งนั้น
เหตุใดวันนี้ กระทรวงพลังงานกลับไฟเขียวให้กฟผ.จัดสร้างระบบสายส่งกว่า 90 กม.วงเงินลงทุนกว่า 7,250 ล้านเพื่อรองรับการซื้อไฟฟ้าในโครงการไอพีพีของบริษัทเอกชนรายนี้ได้ ทั้งที่ในเงื่อนไขประมูลไอพีพี ระยะ 3 กำหนดเอาไว้ชัดเจน บริษัทเอกชนที่ยื่นประมูลโครงการต้องอยู่ในแนวท่อก๊าซปตท. และ ระบบสายส่งของ กฟผ.ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทลูก กฟผ.ถอนตัว “หากจะต้องลงทุนกันถึงระดับนี้ เหตุใด กฟผ.ไม่ส่งบริษัทลูกเข้าประมูลเสียเอง เพราะอย่างไรเสียก็ต้องจัดสร้างระบบสายส่งรองรับโครงการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะจัดตั้งอยู่แห่งหนตำบลใด”
ผุด“โมเดล”ใหม่โรงไฟฟ้าชีวมวล
นอกจากนี้ ขณะที่กระทรวงพลังงาน ประกาศนโยบายชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ยาวไปถึง 5 ปีทั้งในส่วนที่เป็นการผลิตจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP)และรายเล็กมาก(VSPP)เนื่องจากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบเพียงพอกับความต้องการใช้อยู่แล้ว จนทำเอาผู้ประกอบการ ที่ได้ใบอนุญาตไปนับสิบรายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแทบไปไม่เป็น กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ต้องออกมาร้องแรกแหกกระเชอขอให้รัฐและกระทรวงพลังงานทบทวนนโยบายสุดโต่งดังกล่าวเพราะส่งผลสะเทือนไปถึงการลงทุนมหาศาลกว่า 4.5 แสนล้าน
ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานยังได้หันไปผลักดันโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลโมเดลใหม่ ที่จะนำเอากองทุนส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานมาเป็นหัวหอกร่วมลงทุนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) โดยจะประเดิมด้วยการจัดตั้งบริษัท Regional Power System หรือ RPS เพื่อบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) โด ในระยะแรกกองทุนฯ จะถือหุ้น 51% ส่วนที่เหลือ 49% ทั้งกฟผ.และกฟภ.ร่วมถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยในระยะแรกมีแผนรับซื้อพลังงานจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 100 เมกะวัตต์และจะเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ในอนาคต
ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปของโครงการนี้เป็นมาอย่างไร หรือเหตุใดกระทรวงพลังงานถึงลากเอากองทุนอนุรักษ์ฯที่มาจากเม็ดเงินภาษีของประชาชนไปลงขันจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ว่านี้ เพราะไม่เคยอยู่ในแผนใดๆของกระทรวงพลังงานมาก่อน ทั้งที่บริษทเอกชนต่างก็เข้าคิวเสนอจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลป้อนให้รัฐหัวกระไดไม่แห้ง
แนวคิดของ รมว.พลังงานดังกล่าวได้ถูกสหภาพรัฐวิสาหกิจ กฟภ.และกฟผ.ต่อต้านอย่างหนักด้วยเห็นว่ากำลัง”ทุบหม้อข้าว” ของกฟภ.และกฟผ. อีกทั้งที่มาที่ไปของการจัดตั้งและการให้บริษัท RPS เข้ามาบริหารจัดการไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยจะต้องโอนย้ายผู้ใช้ไฟฟ้าไปให้บริษัทดังกล่าวดูแลแทนทั้งหมดนั้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหากบริษัทขาดทุนย่อมกระทบกับประชาชนได้ รวมทั้งยังเห็นว่าแม้ ในอนาคตจะมีการเลือกวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เข้ามาถือหุ้นแทนกองทุนอนุรักษ์ฯ แต่จะมีหลักประกันใดการันตีได้ว่าวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามานั้นเป็นตัวแทนของประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่ “นอมินี “ของฝ่ายทุนหรือการเมืองท้องถิ่น
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร วันนี้นโยบายปฏิรูปพลังงานที่ทุกฝ่ายเพรียกหาและอยากเห็นนั้นก็ถูกลาก”เข้ารกเข้าพง”ไปแล้ว จะด้วยเหตุผลเป็นโครงการของภาครัฐที่กลุ่มทุนพลังงานยากจะเจาะฐานเข้าไปแสวงหาประโยชน์ หรือเพราะกระทรวงพลังงานยุค 4.0 ต้องการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานใหม่ที่มุ่งสนองตอบต่อกลุ่มทุนพลังงานใหม่เอาใจรากหญ้าหรืออย่างไรก็สุดจะคาดเดา
แต่นโยบายขับเคลื่อนการปฏิรูปพลังงานไทยวันนี้ยังคง “ย่ำกับที่ไม่ไปไหน”