“4 พันธมิตร” MOU พัฒนาระบบขนส่งรถโดยสารสาธารณะ

0
306

4 พันธมิตร ลงนาม MOU การพัฒนาระบบขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ หนุนผู้ประกอบการรถตู้โดยสารเปลี่ยนเป็น “รถโดยสารประจำทางขนาดเล็ก” ที่ได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ยกระดับมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยและการให้บริการด้วยรถโดยสารสาธารณะแก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะของประชาชน กรมฯได้กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งนำรถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการประชาชนทดแทนรถตู้โดยสาร กำหนดระยะเวลาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน โดยให้ผู้ประกอบการเริ่มทยอยเปลี่ยนรถโดยสารขนาดเล็ก ทดแทนเฉพาะรถตู้โดยสารที่มีอายุการใช้งานครบ 10 ปี ดังนี้

รถตู้โดยสารประจำทาง หมวด 2 วิ่งเส้นทางกรุงเทพ-ต่างจังหวัด และรถตู้โดยสารประจำทาง หมวด 3 วิ่งเส้นทางระหว่างจังหวัดกับจังหวัดที่มีจุดจอดรับส่งผู้โดยสารระหว่างทาง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา

ส่วนรถตู้โดยสารประจำทาง หมวด 1 วิ่งเส้นทางเขตกรุงเทพและปริมณฑล หมวด 3 วิ่งเส้นทางระหว่างจังหวัดกับจังหวัดที่ไม่มีจุดจอดรับส่งผู้โดยสารระหว่างทาง และหมวด 4 วิ่งในท้องที่ จะเริ่มดำเนินการเปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ รถโดยสารขนาดเล็กที่นำมาทดแทนต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยตามที่กรมฯกำหนด โดยเป็นรถโดยสารมาตรฐาน 2 (จ) จำนวนที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง (ที่ไม่ใช่ลักษณะรถตู้) และรถโดยสารมาตรฐาน 2 (ค) จำนวนที่นั่งตั้งแต่ 21 – 30 ที่นั่ง ซึ่งรถทั้งสองมาตรฐานจะมีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรง ทำให้มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงขึ้น พร้อมกำหนดให้ติดตั้งอุปกรณ์ส่วนควบ เช่น ระบบเบรกแบบ ABS (Anti-lock Brake System) หรือระบบห้ามล้อแบบอื่นที่มีมาตรฐานเท่ากันหรือสูงกว่า ติดตั้ง GPS Tracking และอุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor) มีทางออกฉุกเฉิน ค้อนทุบกระจก และถังดับเพลิง เป็น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีการปรับตัวด้วยการปรับจำนวนรถในเส้นทางตามสัดส่วนจำนวนที่นั่งรถโดยสารขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนที่นั่งในรถตู้โดยสาร โดยไม่ให้กระทบกับความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสาร ทำให้ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการเริ่มนำรถโดยสารขนาดเล็กมาให้บริการทดแทนรถตู้โดยสารหมวด 2 และหมวด 3 ที่ครบอายุการใช้งานแล้วจำนวนทั้งสิ้น 70 คัน เป็นเส้นทาง หมวด 2 จำนวน 28 คัน และหมวด 3 จำนวน 42 คัน

อย่างไรก็ตาม กรมฯให้ความสำคัญและพร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารขนาดเล็กในทุกประเด็น โดยไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ จึงร่วมกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการพัฒนาระบบการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ ภายใต้ “โครงการเปลี่ยนรถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐาน” เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้ยานพาหนะในการเดินทางอย่างปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการให้แก่ประชาชน

ด้าน นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารขนาดเล็กทดแทนรถตู้โดยสารที่มีอายุใช้งานเกิน 10 ปีแล้วในหลายเส้นทาง เช่น เส้นทางกรุงเทพ-กำแพงเพชร, กรุงเทพ-ตราด, กรุงเทพ-พัทยา, จันทบุรี-ระยอง, นครศรีธรรมราช-หาดใหญ่, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-เกาะช้าง รวมถึงเส้นทางจากท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา 3 เส้นทาง ไปยังตราด, ระยอง, ชลบุรี ที่เปิดให้บริการตามนโยบายรถโดยสารเชื่อมสนามบินสู่ชุมชนของกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ บขส. จะทยอยเปลี่ยนรถตู้โดยสารให้ครบถ้วนทุกเส้นทางเพื่อเป้าหมายความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน

ขณะที่นางอรนุช ศิรประภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกสินเชื่อ Krungthai Mini Bus สนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร เพื่อเปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐาน โดยมีวงเงินกู้สูงสุดต่อราย 20 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด MRR-1.5% ต่อปี สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันเต็มวงเงิน แทนการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมทั้งยังให้สินเชื่อเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันภัยรถโดยสาร และประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินกู้ วงเงินโครงการรวม 2,000 ล้านบาท

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย. จะให้การค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารที่ได้รับอนุมัติแล้วจากธนาคารฯ ตามโครงการ “เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กแทนรถตู้โดยสาร” โดยผู้ประกอบการขนส่งต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้โครงการค้ำประกันที่ บสย. มีอยู่ในปัจจุบัน หรือที่จะได้กำหนดให้มีขึ้นต่อไปในอนาคตเพื่อช่วยเหลือการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการด้วย