“อาคม” อัพเดทความคืบหน้ารถไฟไทย-จีน

0
217

“อาคม” เผยความคืบหน้ารถไฟไทย-จีนตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ระยะทาง 11 กม.อยู่ในขั้นตอนแก้ไขแบบ คาด ประกวดราคา ส.ค. 61 เริ่มการก่อสร้าง พ.ย.61 ส่วนที่เหลืออีก 12 ตอน จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 6 ตอน ชี้ฝ่ายจีนจะส่งมอบแบบรายละเอียดทั้ง 2 กลุ่มให้ไทยภายใน มิ.ย.61  คาดประกวดราคากลุ่มแรก 6 ตอนได้ ก.ย.61 เริ่มก่อสร้าง มี.ค.62 และประกวดราคากลุ่ม 2 ภายในเดือน พ.ย.61 เริ่มการก่อสร้างประมาณเดือนเม.ย.62 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 24 ว่าติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 14 ตอน คือ ตอนที่ 1 สถานีกลางดง – ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 โดยมีวิศวกรชาวจีนเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างด้วย ขณะนี้มีความก้าวหน้าตามลำดับ การตรวจสอบคุณภาพและผลงานเป็นที่น่าพอใจ ตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ฝ่ายจีนได้จัดส่งแบบรายละเอียดให้ฝ่ายไทย ซึ่งที่ปรึกษาของไทยได้ตรวจสอบแบบและส่งความเห็นให้ฝ่ายจีนแก้ไข โดยฝ่ายจีนจะแก้ไขและส่งให้ไทยภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2561 คาดว่าจะดำเนินการประกวดราคาในเดือนสิงหาคม 2561 และเริ่มการก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน 2561 ส่วนที่เหลืออีก 12 ตอน จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 6 ตอน ฝ่ายจีนจะส่งมอบแบบรายละเอียดทั้ง 2 กลุ่ม ให้ไทยภายในเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งไทยต้องใช้เวลาในการตรวจสอบแบบรายละเอียดและเสนอความเห็นให้จีน เช่น การออกแบบอาคารสถานีที่ไทยต้องการให้มีเอกลักษณ์ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย คาดว่าจะประกวดราคากลุ่มแรกจำนวน 6 ตอน ได้ประมาณเดือนกันยายน 2561 เริ่มการก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2562 และดำเนินการประกวดราคากลุ่มที่ 2 จำนวน 6 ตอน ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 เริ่มการก่อสร้างประมาณเดือนเมษายน 2562

ขณะที่โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย) ระยะทาง 350 กิโลเมตร คงเป็นไปตามหลักการเดิม คือ ไทยจะดำเนินการเองทั้งในส่วนของการศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบรายละเอียดโครงการ โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษา ซึ่งฝ่ายจีนเห็นด้วยและขอมีส่วนร่วมในการดูแบบรายละเอียดและตัวรถ ทั้งนี้ ไทยจะเร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 เริ่มก่อสร้างภายในปี 2562 และเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเปิดให้บริการได้พร้อมกับโครงการฯ ระยะที่ 1 ขณะที่การเชื่อมโยงทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นสะพานสำหรับรถไฟความเร็วสูง (ขนาดทางมาตรฐาน) และรถไฟทางคู่ (ขนาดทาง 1 เมตร) โดยการเจรจาสัญญา 2.3 งานระบบรถไฟความเร็วสูงและการฝึกอบรม จะเร่งเจรจาร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนสิงหาคม 2561