คมนาคม เปิดรับฟังความคิดเห็นสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่าลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ดันติด 1 ใน 20 ท่าเรือดีสุดในโลก คาดเปิดประมูลภายในเดือน ส.ค. นี้
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ว่า การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย ปี 2558-2565 และเป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญใน EEC โดยจะใช้รูปแบบ PPP เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐ และใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของภาคเอกชนมาช่วยในการบริหารท่าเรือ ซึ่งจะรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะของภาคเอกชน เพื่อนำไปปรับปรุงรูปแบบการลงทุน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติและเปิดคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการภายในปีนี้
“ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าการส่งออกของประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณตู้สินค้าที่ 7 ล้านทีอียูต่อปี ภายใต้นโยบาย EEC จะทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่และปริมาณการค้าเติบโต จึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาเฟสที่ 3 เพื่่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าเป็น 18 ล้านที.อี.ยู.ต่อปี โดยนำระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติมาบริหารจัดการ การส่งเสริมการขนส่งแบบไร้รอยต่อ เชื่อว่าเมื่อดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังติด 1ใน 20 ท่าเรือที่ดีที่สุดในโลก”
ด้านร้อยตำตรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย เตรียมเปิดประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายในปีนี้ โดยมูลค่ารวม 120,000 ล้านบาท จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณท่าเรือ วงเงินลงทุน 40,000 ล้านบาท การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะทยอยลงทุนเองในเวลา 5 ปี เบื้องต้นมีเงินสดที่พร้อมดำเนินการลงทุนได้ 10,000 ล้านบาท จากนั้นอาจทยอยจะกู้เพิ่มอีก 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะเปิดประมูลหาผู้รับเหมางานตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง คาดจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลและลงนามสัญญาในเดือน กุมภาพันธ์ปีหน้า
“ส่วนที่ 2 เป็นการบริหารจัดการท่าเรือ โดยจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP ซึ่งภาคเอกชนจะเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ท่าเรือให้พร้อมในการให้บริการ จัดหาเครื่องมือต่าง ๆ ระบบไอที และทำการตลาด ประเมินมูลค่าลงทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท อายุสัมปทาน 30 ปี ส่วนนี้จะใช้ระเบียบ PPP EEC Track โดยจะทำ Market sounding ครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน และครั้งที่ 3 ในเดือนกรกฎาคม จากนั้นจะสรุปข้อมูลเสนอขออนุมัติและประกาศทีโออาร์ในเดือนกรกฎาคม ขายซองประมูลในเดือนสิงหาคม ได้ตัวเอกชนผู้รับเหมาและลงนามสัญญาในเดือนธันวาคมปีนี้”