0
492

หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้มีมติเห็นชอบรับหลักการพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ซึ่งจะนำมาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ตามที่กระทรวงการคลังได้มีการเสนอมา โดยทางคณะกรรมการวิสามัญจะพิจารณาทบทวนรายมาตราอีกครั้ง

แต่เมื่อมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นี้ ยังมีปัญหาคลุมเครือไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐจะออกกฎหมายจัดเก็บภาษีประเภทใดประเภทหนึ่ง ควรศึกษาและสำรวจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดทำการศึกษาวิจัยตามโครงการศึกษาประเด็นกฎหมายและการประเมินผลกระทบของร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีต่อประชาชนขึ้น เพื่อนำเสนอทบทวนปรับแก้ไขก่อนจะมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายบังคับต่อไป แต่อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีช่องว่างที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย….

ดร.ศิริญญา ดุสิตนานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาประเด็นกฎหมายและการประเมินผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีต่อประชาชน เปิดเผยกับ Logistics Time เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ดำเนินการทบทวนบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. นี้ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนรวมไปถึงผู้ประกอบการ

“จากข้อกังวลดังกล่าวจึงทำให้ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินการจัดทำโครงการศึกษาประเด็นกฎหมายและการประเมินผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีต่อประชาชน เพื่อนำเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงจะได้นำข้อมูลที่ได้จากการทำโครงการศึกษาเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อทบทวนการเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นอกจากนั้นก็ยังเป็นการทบทวนการออกกฎหมายในชั้นอนุบัญญัติอีกด้วย กล่าวคือ นอกจากตัว พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ก็ยังมีตัวกฎหมายอนุบัญญัติประกอบในตัว พ.ร.บ. นี้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับมาตรการบรรเทาภาษีให้มีความเหมาะสม”

 

เผยภาษีที่ดิน ขัดต่อหลักการออมของประชาชน

ในส่วนของผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการจาก พ.ร.บ. ตัวนี้ ในรายงานที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดทำขึ้นมา จะประกอบไปด้วย ผลสะท้อนที่ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับจากร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยแยกออกเป็นประเด็นที่สำคัญได้ดังนี้

  1. อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เพื่อพาณิชยกรรม ในส่วนนี้จะต้องมีการเสียภาษีในอัตราที่กำหนดตาม พ.ร.บ. โดยมีเพดานสูงถึง 2% ผลกระทบที่ประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับ จะส่งผลให้ธุรกิจมีต้นทุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกผลักภาระมายังผู้บริโภคในที่สุด
  2. อัตราภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่กำหนดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีเพดานสูงถึง 5% ดังนั้นหากเจ้าของทรัพย์สินต้องการถือครองหรือจำหน่ายขายที่ดินซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ก็จะถูกบีบให้ขายในราคาที่ถูกกว่าที่ควรจะเป็น โดยกรณีจะเป็นการขัดกับหลักการออม ที่มีการแนะนำให้มีการกระจายการออม ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินกับธนาคาร การนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้น และการนำมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล้วการลงทุนหรือการถือครองอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการออมแทนการฝากเงินกับสถาบันทางการเงิน ที่ในเวลานี้จะเห็นได้ว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีสัดส่วนที่ต่ำมาก ดังนั้นในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับหลักการออมของประชาชน
  3. ผลกระทบจาก พ.ร.บ. ภาษีและที่ดิน ก็จะตกอยู่กับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยที่ดินที่ใช้เพื่อการเกษตรกรรม ถึงแม้จะมีการเสียภาษีตาม พ.ร.บ. ตัวนี้ โดยอยู่ในอัตรา 0.2% ซึ่งอาจจะดูว่าไม่มาก แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราที่สูงอยู่ดี เนื่องจากการทำเกษตรกรรมจะต้องใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากเทียบกับรายได้ที่น้อยของเกษตรกร พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับเกษตรและผู้มีรายได้น้อยนั่นเอง

 

ถกปัญหาที่ดินรกร้าง ทางออกของการจัดเก็บภาษี

ดร.ศิริญญา อธิบายเกี่ยวกับโครงการศึกษาประเด็นกฎหมายและการประเมินผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีต่อประชาชน ที่ทางมหาวิทยาลัยหอการไทย ได้ดำเนินการจัดทำเกี่ยวกับผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับจาก พ.ร.บ. ตัวนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของตัวบทกำหนดโทษที่อาจจะส่งผลให้ผู้ที่มีการศึกษาน้อยหรือไม่รู้กฎหมาย อาจได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้

“สำหรับประเด็นสำคัญในเรื่องของการสะท้อนถึงข้อกังวลในเรื่องของบทกำหนดโทษ ในเมืองไทยต้องยอมรับกันว่า ประชากรบ่างส่วนเป็นผู้ที่มีการศึกษาน้อย หรือไม่รู้กฎหมาย และคนชราภาพ อยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นกังวลว่ากลุ่มคนเหล่านี้อาจจะถูกดำเนินการลงโทษหากมีการกระทำผิดตามมาตราดังกล่าวนี้ได้ อีกประเด็นที่เป็นข้อกังวลใจของประชาชนในเรื่องของการจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ในอัตรา 5%

ซึ่งจากการเสียงสะท้อนของประชาชน มีทัศนคติว่า การถือครองแม้จะเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า แต่หากเป็นการถือครองเพียงแค่แปลงเดียว ก็น่าจะถือว่าเป็นการลงทุนในการเก็บออมเงิน แต่เป็นการออมในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้ควรจะมีการยกเว้น โดยอาจต้องคำนึงถึงเรื่องตำแหน่งของที่ดิน ขนาดที่ดินด้วยว่า หากมีขนาดที่มากจนเกินไป ก็จะถือว่าเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินเยอะ แต่หากมีขนาดพอประมาณ ตรงนี้มันขึ้นอยู่กับการกำหนดของหลักเศรษฐศาสตร์ หรือผู้กำหนดนโยบายนั่นเอง”

 

ชี้ พ.ร.บ. ใหม่เพิ่มอำนาจ อปท. จัดเก็บภาษี

สำหรับเนื้อหาภายใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดำเนินการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในส่วนของประเด็นตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเก็บอสังหาริมทรัพย์ไว้เพื่อการออม หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ที่ประชาชนและผู้ประกอบการต่างมีความกังวลใจในเรื่องดังกล่าว ว่าจะมีการแยกออกจากกันหรือไม่ ในส่วนนี้มองได้ว่าอาจจะไม่ได้มีการแยกจากกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการแยกตามวัตถุประสงค์หรือตามประเภทของการใช้ที่ดิน แต่กระนั่นก็คงต้องรอผลการพิจารณาจาก สนช. ถึงประเด็นดังกล่าวว่าจะมีการพิจารณาออกมาอย่างไร

พ.ร.บ. ตัวนี้ ได้อำนวยความสะดวกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะกำหนดอัตราขึ้นลงได้โดยขึ้นอยู่กับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ว่ามีความต้องการใช้เงินภาษีเพื่อมาบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในท้องถิ่นนั้นอย่างไร ซึ่งย่อมที่จะส่งผลให้ อปท. มีความคล่องตัวมากขึ้น รวมไปถึงการกำหนดงบประมาณก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าแต่ก่อน ดังนั้น พ.ร.บ. ใหม่นี้ อาจจะยังต้องปรับปรุงแก้ไขในอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเพดานการจัดเก็บภาษีที่ดินประเภทต่างๆ การให้อำนาจ อปท. ในการกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีขึ้นลงได้เอง รวมไปถึงประเด็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษี การจัดทำผังเมืองให้มีความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงที่ดินเหล่านั้นก็จะถูกพัฒนาไปตามกลไกของตลาดนั่นเอง”

เพราะฉะนั้นคงต้องดูว่า พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะออกมาในรูปแบบใด จะเป็นไปตามที่ได้นำเสนอหรือไม่ และการทุจริตในเรื่องของการจัดเก็บภาษีจะลดลงอย่างไร รวมไปถึงการให้อำนาจองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดิน จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพียงใด ตรงนี้คงต้องช่วยกันหาคำตอบ…เพราะมันคือเรื่องของพวกเราทุกคน….