บ้านปูฯทุ่ม 2,065 ล้านซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม

0
137

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลม El Wind Mui Dinh โดยการซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เปิดดำเนินการแล้วในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลงทุนในระยะยาวของบริษัทฯ ในเวียดนาม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตและมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter ของบ้านปูฯงมุ่งเน้นขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน โดยมีมูลค่าการลงทุนจำนวน 66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่าประมาณ 2,065 ล้านบาท โดยการลงทุนในครั้งนี้มาจากกระแสเงินสดของบ้านปูฯ และ บ้านปู เพาเวอร์ในสัดส่วนที่เท่ากัน ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวอยู่ในระหว่างการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในสัญญา และการได้รับอนุมัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 โดยเป็นการลงทุนผ่านบริษัท BRE Singapore Pte. Ltd. (BRES) บริษัทย่อยที่บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในอัตราร้อยละ 50 ผ่านบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (BanpuNEXT) มีราคารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FIT) ที่ 8.5 เซ็นต์สหรัฐ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 20 ปีตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity หรือ EVN)

โรงไฟฟ้าพลังงานลม El Wind Mui Dinh เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2562 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 37.6 เมกะวัตต์ จากกังหันลม 16 ตัว แต่ละตัวมีกำลังการผลิต 2.35 เมกะวัตต์  กังหันลมได้รับการออกแบบและบำรุงรักษาโดยโดยบริษัท Enercon GmbH ผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าพลังงานลมและผู้ผลิตกังหันลมจากประเทศเยอรมนี บ้านปูฯ ทำสัญญาผ่าน Enercon Partner Konzept (EPK) ซึ่งครอบคลุมการบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งสัญญานี้จะเพิ่มเสถียรภาพในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าได้ในระยะยาว

โรงไฟฟ้าพลังงานลม El Wind Mui Dinh ตั้งอยู่ในจังหวัดนินห์ถ่วน บริเวณชายฝั่งทะเลภาคกลางตอนใต้ของเวียดนาม นอกจากสถานที่ตั้งซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะสมเนื่องจากมีความเร็วและแรงของลมแล้ว นโยบายที่สนับสนุนการลงทุนของรัฐบาลเวียดนามยังเอื้อให้ทั้งผู้พัฒนาและนักลงทุนสามารถเข้ามาสร้างโอกาสในพื้นที่จังหวัดนี้ได้ จังหวัดนินห์ถ่วน จึงกลายเป็นทำเลที่น่าจับตามองสำหรับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนาม โดยปัจจุบัน กว่าร้อยละ 80 ของพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศมีแหล่งการผลิตมาจากจังหวัดดังกล่าว

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนามในครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter และนับเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนให้กับบริษัทฯ รวมถึงเพิ่มรายได้และกระแสเงินสดจากพลังงานหมุนเวียนให้บ้านปูฯ ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดประเทศหนึ่ง และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ยังคงขยายตัวสวนทางกับสถานการณ์ของโลก ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมายถึงโอกาสในอนาคตที่เปิดกว้างสำหรับบ้านปูฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มอีก 7 กิกะวัตต์ ส่งผลให้ประเทศเวียดนามจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมรวมถึงเกือบ 12 กิกะวัตต์ภายในปี 2568”

“ในฐานะบริษัทที่บุกเบิกการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาในตลาดเวียดนาม โดยเฉพาะในจังหวัดนินห์ถ่วนที่เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ บ้านปูฯ กำลังวางรากฐานสำหรับการลงทุนในระยะยาว โดยเพิ่มโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ และเพื่อมาเสริมพอร์ตพลังงานหมุนเวียนของเรา บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน และเป็นไปในทิศทางเดียวกับเทรนด์พลังงานในระดับภูมิภาค ซึ่งก็คือการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ด้วยกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เราสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบ 7 แสนตันต่อปี หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 40 ล้านต้น ในส่วนของการลงทุนในอนาคตอันใกล้ บ้านปูฯ มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจซึ่งสามารถสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงและต่อเนื่อง มีผลตอบแทนสูง และให้ผลตอบแทนระยะยาวสำหรับผู้มีส่วนได้เสียของเรา”นางสมฤดีกล่าวเพิ่มเติม

กลุ่มบริษัทบ้านปูฯ ตั้งเป้าหมายที่จะสามารถผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 โดยเน้นการลงทุนในตลาดที่ความต้องการใช้พลังงานมีการเติบโต โดยมีบริษัทบ้านปูเน็กซ์มุ่งมั่นนำทัพในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน รวมถึงเทคโนโลยีด้านพลังงานต่อไป รวมโรงไฟฟ้าพลังงานลม El Wind Mui Dinh บ้านปูฯ จะมีกำลังผลิตรวมจากพลังงานหมุนเวียน 814 เมกะวัตต์